Stock
mai: SICT
4.76 THB
เปลี่ยนแปลง(%)
-0.18(-3.64%)
ปริมาณซื้อขาย (หุ้น)
965,836
มูลค่าการซื้อขาย (บาท)
4,578,346
ปรับปรุงเมื่อ :

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)

ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

อยากให้เล่าถึงประวัติ ดร.บดินทร์ และการทํางานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผ่านมาครับ?

ผมสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นแรกของภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ จากนั้นก็ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในสาขาวิชา Microsystem Technology ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ นับเป็นความฝันของผมเลยทีเดียว เป็นความโชคดีที่ Head Professor ของแล็ปที่ผมทำงานที่เยอรมนีเคยเป็น Head of R&D ที่ Infineon มาก่อน ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 หรือ 2 ที่เก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ผมก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ท่านนี้

ตอนที่ได้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ก็ได้มีโอกาสทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีประมาณ 8-9 ปี ตั้งแต่เรียน ทำงานเป็นนักวิจัย หลังจบปริญญาเอกผมก็ได้ไปทำ Post-Doc ด้านอิเล็กทรอนิกส์เซ็นเซอร์ ซึ่งก็เป็นเซมิคอนดักเตอร์เซ็นเซอร์ งานที่ผมทำจะเน้นหนักไปทางด้านออกแบบและพัฒนา ผลิตภัณฑ์บางตัวที่ผมเริ่มออกแบบและพัฒนาเมื่อ 10-15 ปีก่อนเพิ่งจะออกมาให้เห็นเป็นผลิตภัณฑ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มี ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นดี

หลังจากที่ผมทำ Post-Doc เสร็จก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับ Philips Semiconductors หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น NXP Semiconductors ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผมเข้าไปทำงานในส่วนของ Semiconductor ซึ่งผลิตชิปให้กับ Philips เองด้วยและผลิตให้รายอื่นด้วย ผมได้ไปเริ่มงานที่ Headquarters ในส่วนของ RFID Business Unit ดังนั้นประสบการณ์ทำงานของผมตั้งแต่เรียนจบก็ทำเกี่ยวกับ RFID Security และสินค้าเกี่ยวกับ Identification มาตั้งแต่ปี 2006 บทบาทของผมก็ครอบคลุมทั้ง Designer และ Project Manager ในตอนนั้นผมก็เป็นคนไทยคนเดียว ก็ต้องพูดภาษาเยอรมันได้ด้วย ต้องคุยกับลูกค้า ได้ใช้ความรู้ทางเทคนิคที่ผมมี และได้ใช้ทักษะด้าน Project Management ได้เข้าใจ Flow ของการทำธุรกิจ ได้ประสานงานตรงกับลูกค้า ผมคิดว่าประสบการณ์ช่วง 4-5 ปีที่ผมทำงานในธุรกิจนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ Flow และ Process ของธุรกิจ RFID อย่างมาก

ช่วงปี 2011 ทาง Philips ส่งผมกลับมาตั้งศูนย์ R&D ที่เมืองไทย เพราะเขาเห็นว่าผมเข้าใจธุรกิจและมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่ทางเมืองไทยก็จะเน้นที่การผลิตอย่างเดียว พอกลับมาทำงานที่เมืองไทยได้ประมาณครึ่งปี ผมก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Senior Manager ได้รับมอบหมายให้ดูแลในหลายๆ ด้าน เช่น Business Flow, Project Management, Internal Audit ในเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ผมก็ได้โอกาสไปเป็นผู้บริหารที่ NXP Semiconductorห ที่ฟิลิปปินส์ประมาณเกือบ 2 ปี หน้าที่หลักคือ Firefighting แก้ปัญหาธุรกิจ R&D ที่กำลังจะล้ม เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้บริหาร และหน่วยงาน R&D เป็นหน่วยงานที่ใช้ผู้บริหารชาวต่างชาติมาโดยตลอด เขาเลยต้องการหาคนมาช่วย Set up และแก้ไขปัญหา

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ผมก็กลับมาเมืองไทย ก็กลับมาสานต่องาน Customer Facing R&D มีโอกาสได้คุยกับลูกค้า รับการ Audit จากลูกค้า ได้เจอลูกค้าที่มีความต้องการแปลก ๆ ได้เรียนรู้การเข้าถึงลูกค้า การทำ Business Model ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นไปดูแลในส่วนของ Corporate ด้วย เพราะธุรกิจ Semiconductor จะมี 2 ส่วนคือ Wafer และ Back-End Technology จากที่เป็น Head of Back-End R&D ประจำภูมิภาคก็ได้ขึ้นมาเป็น Head of Business Unit Back-End R&D ซึ่งเป็น Business Unit ที่มีรายได้ประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีลูกน้องประมาณเกือบ 100 คน ทำงานอยู่ใน 8-9 ประเทศ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนไทยคนหนึ่งที่ได้ทำงานในระดับบริหาร ได้เห็นภาพของการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ ได้เรียนรู้การทำงานกับลูกค้า กับผู้บริหาร เรียนรู้ระบบการทำธุรกิจในเชิงลึกในบริษัทขนาดใหญ่ มีโครงสร้างที่เหมาะสม ถือเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับผม ที่มีความรู้เกี่ยวกับ Semiconductor ในทุกด้าน

ผมคิดว่าประสบการณ์ 4-5 ปีแรกของผมที่ Philips Semiconductor ถือเป็นหัวใจหลักที่นำให้ผมมาทำงาน SICT ในวันนี้ เพราะคนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจ RFID เข้าใจกระบวนการ ฐานลูกค้า การผลิตของลูกค้า อาจพูดได้ว่าคนไทยที่มีประสบการณ์คล้ายกับผมอาจจะมีจำนวนจำกัด

ทำไม ดร. บดินทร์ ถึงตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) ครับ?

ถ้าถามว่าทำไมผมจึงตัดสินใจมาร่วมงานกับ Silicon Craft สาเหตุคือผมคิดว่าผมได้พิสูจน์แล้วว่าคนไทยเราสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ได้ เพราะผมพิสูจน์กับตัวเองมาแล้ว ที่ได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของ Hardware R&D ตอนที่ทำงานกับ NXP Semiconductor ถือเป็นจุดสูงสุดที่คนไทยคนหนึ่งจะสามารถไปได้ ผมจึงคิดว่าถ้าเราเอาความรู้และทักษะที่เรามี มาพัฒนาบริษัทขนาดประมาณนี้ แล้วบริษัทจะไปได้ไกลขนาดไหน ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่บริษัท Technology Startup ในเมืองไทยไม่ค่อยเกิดเป็นเพราะว่าในตอนเริ่มต้นมีการวางรากฐานที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น Silicon Craft เองอายุประมาณ 17-18 ปี แน่นอนเรามี R&D ที่เก่ง แต่ถ้าเราอยากให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดจากรายได้ 300 ล้านบาทไปเป็น 600 ล้านบาท ความฝันของผมเองคืออยากให้บริษัทโตเป็น 10 เท่า หรืออย่างน้อย 2 เท่าในระยะเวลา 3-4 ปีจากนี้ เราจะต้องเดินไปอย่างไร ผมก็ได้มานั่งวิเคราะห์ว่าบริษัทมีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร และเราก็ต้องทบทวนตัวเองว่าเราจะสร้างคุณค่าอะไรให้บริษัทได้บ้างถ้าเราได้เข้ามาร่วมงาน

ผมก็คิดว่าผมได้นำความรู้ที่ผมเคยทำในด้าน RFID ซึ่งค่อนข้างตรงกัน ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการในการพัฒนา รู้จักลูกค้า การใช้งาน RFID ของลูกค้า ทุกวันนี้เราทำงานในลักษณะที่เป็น Partnership กัน ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทางผู้ก่อตั้งก็ให้ผมช่วยดูแลในด้านธุรกิจ ตลาดและการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หากผมต้องการความรู้เชิงลึกในเรื่อง Chip Design ผมก็สามารถคุยกับทีมงานหลายคนที่มีดีกรี PhD ที่เก่งๆ ว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นมีความเหมาะสมหรือเปล่า หรือเราจะทำอะไรที่ดีกว่าที่ตลาดมีได้หรือเปล่า ความตั้งใจคือเราไม่ได้จะขายในราคาถูก ถ้าไปดูงบการเงิน ดูในส่วนของ Gross Profit Margin จะเห็นว่าเราจะต่างจากธุรกิจที่เป็นการบริการ เราต้องการขายไอเดีย ขายความรู้ที่เรามี เราเป็น Asset-Light Company ดังนั้นเราต้องบอกได้ว่าเราจะเก่งกว่าสินค้าที่มีในตลาดโลกแบบไหน เราจะสู้กับผู้ผลิตในจีนอย่างไร เขาแข่งด้วยราคาแต่ Performance ก็อีกเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้เราก็สู้กับ NXP, Infineon หรือ Texas Instrument ที่เราสู้ได้ในบางตลาดเป็นเพราะสินค้าเราดีจริง นั่นหมายถึงคนไทยมีศักยภาพ เราทำสินค้าแบบเดียวกับที่ต่างชาติทำได้ และเราทำได้ดีกว่าด้วย และเราจดสิทธิบัตรด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาไอเดียที่เราคิดไปต่อยอด แต่ถ้ามีใครสนใจจริง ๆ ผมก็ยินดีที่จะขายไอเดีย นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผมจึงสนใจบริษัทนี้ อยากจะเห็นว่าคนไทยจะพามันไปได้ไกลขนาดไหน ด้วยความที่ผมเรียนปริญญาเอก ผมจึงมีความอินกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่ โดยรวมแล้วคิดว่า DNA ของผมกับของบริษัทสอดคล้องกันจึงได้มาทำงานด้วยกัน

สำหรับ ดร.บดินทร์ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในระดับ Global Experiences ได้มีการนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจของ SICT ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างไรบ้าง

ผมโชคดีที่ช่วงหนึ่งเคยมาอยู่ที่ NXP Semiconductor ที่ประเทศไทย เป็นช่วงที่ผมก็ต้องปรับตัวเยอะ มีความคิดว่าจะย้ายกลับไปต่างประเทศดีไหม ผมคิดว่ามันอาจเป็นธรรมดาของสังคมทำงานในไทย คือ มีการเมืองในที่ทำงาน แต่ที่ไหนในโลกก็มีทั้งนั้น แค่อาจจะมีน้อยกว่าเรา แต่ผมมองว่าข้อดีของการมาทำงานที่นี่คือที่นี่เป็นสำนักงานขนาดใหญ่ มีพนักงานมากกว่าสามพันคน ผมเคยมีประสบการณ์ไปอยู่สำนักงานใหญ่หลายๆ ที่ เช่น เท็กซัส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ผมมองว่าวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกัน สิ่งที่ผมคิดว่าผมสร้างคุณค่าได้คือทีมงานฝ่ายขายได้เรียนรู้จากผมเยอะ จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานร่วมกับคนที่หลากหลาย วิธีในการเข้าหาลูกค้าก็จะไม่เหมือนกัน มันก็จะมีเทคนิคที่ต่างกันไป แต่ละวัฒนธรรมไม่มีข้อเสียอะไรในตัวมันเอง แค่เราต้องปรับตัวและเรียนรู้ ผมโชคดีที่ไม่ได้เพียงแค่สัมผัสลูกน้องที่หลากหลายเชื้อชาติ แต่ยังได้สัมผัสลูกค้าที่หลากหลายด้วย น่าจะมีแค่แอฟริกาที่เดียวที่ยังไม่เคยได้เข้าไป ก็น่าจะทำให้ทีมงานที่ทำงานด้วยกันได้เรียนรู้จากผม นอกเหนือจากตำแหน่ง Co-CEO แล้ว ผมก็ยังดูแลในส่วนของ Business และ Sales & Marketing ด้วย ก็เลยได้มีโอกาสให้คำแนะนำกับทีมงานด้วย ว่าในการไปเจอลูกค้าแบบนี้จะต้องเตรียมข้อมูลแบบไหน ก็ถือเป็นการโค้ชทีมงานไปด้วย ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ได้เข้ามาทำงานที่นี่ ทีมงานก็ได้มีการปรับตัว ทั้งในเรื่อง Speed of Execution และ Mindset ในการทำงาน การพูดภาษาอังกฤษ ผมมองว่าก็เป็นคุณค่าที่ผมมอบให้กับบริษัทได้

มุมมองในภาคอุตสาหกรรม IC หรือ Microchip ของ SICT เมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศแล้ว เราสามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างไร

จริง ๆ ต้องบอกว่าเราอยู่ในระดับโลกอยู่แล้ว เรามี 4 ธุรกิจหลัก คือ Animal ID, Access Control, Automotive และ Advanced NFC จริง ๆ แล้ว 99% ของธุรกิจเราขายลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมถนัด แต่จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าเมืองไทยเป็น Uncovered Market คนไทยยังมองเทคโนโลยีเป็นต้นทุนอยู่ ไม่ได้มองเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือไม่ได้มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Features นี่คือความแตกต่าง เพราะที่ต่างประเทศจะมองว่านี่เป็น Features เป็นสิ่งที่นำไปขายได้ เขาเอาเทคโนโลยีไปใช้เพื่อให้ต้นทุนลดลง ในต่างประเทศอาจมีมุมมองเรื่อง Cost of Ownership ที่กว้างกว่า แต่สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก คนไทยอาจมองในเรื่อง Procurement ก่อนทันที แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ เขาจะมองถึง Total Package ของสินค้าของเขา ว่าสิ่งที่เติมหรือเสริมเข้าไปนั้นหมายถึงอะไร เราไม่ใช่แค่ทำ Standard Product ออกมาแล้วไปขายแบบ On Shelf แต่สิ่งที่เราทำคือเราไปคุยกับ Key Account ของเรา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เราก็ไปแชร์แผนงานให้เขาฟัง อย่างล่าสุดผมไปคุยกับเบอร์หนึ่งของตลาด Animal ID อยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ได้เจอกับ VP R&D คนใหม่ของทางลูกค้า เราก็แชร์แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมาณ 3-4 ตัวที่เราคิดว่าจะผลิตในอีก 2-3 ปี พอลูกค้าได้ฟังก็สนใจที่จะคุยต่อในเชิงลึก ผมมองว่านี่เป็น Technical Marketing เราได้ศึกษามาแล้ว วิธีการทำงานแบบนี้เสมือนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทลูกค้า เราต้องมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของลูกค้า ถ้าเรามองว่าเราอยากให้ลูกค้าเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจของเขา มีส่วนแบ่งการตลาด มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ถ้าเรามองภาพแบบนี้ได้ การคิดหรือพัฒนาสินค้าของเรามันจะไปตอบสนองโจทย์ของลูกค้าทันที เพราะเรามีความเข้าใจว่าลูกค้าจะเอาไปใช้ทำอะไร อย่างเช่นการจะออกแบบชิปออกมาสักชิ้นหนึ่ง เราจะวางตำแหน่งอย่างไรเพื่อให้มันเหมาะกับสิ่งที่ลูกค้าจะนำไปใช้หรือไปประกอบ แค่เราคิดแบบนี้เราก็เอาชนะคู่แข่งอีกหลายเจ้าได้แล้ว แต่นี่คือวิธีคิดของบริษัทต่างชาติ ซึ่งถ้าผมคิดได้ คู่แข่งก็คิดได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดได้เร็วกว่ากัน ธุรกิจแบบนี้ Partnership มีความสำคัญ ไม่ว่าจะกับลูกค้าหรือกับซัพพลายเออร์ของเราเอง รวมถึงมหาวิทยาลัย สถาบัน หรือ R&D Center ถือเป็น Partnership ที่มีความสำคัญระดับสูงสุดในมุมมองของผม

เคยได้ยินดร.บดินทร์เรียก SICT ว่าเป็น Data Shuttle Company ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้หรือไม่ครับ ว่ามีที่มาที่ไป หรือมีหมายความว่ายังไง?

เทคโนโลยีเป็นตัวสร้าง Application หรือ Use Case ให้เกิด เรื่อง IoT ก็เป็นเรื่องที่พูดกันเยอะช่วง 2-3 ปีมานี้ ตอนที่ผมเป็น Senior Director ในส่วนงาน IoT R&D ที่ NXP ก็คุยกันลงลึกมาก บางทีใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้ Portfolio ออกมา แต่ในมุมกลับกัน IoT ก็เป็น Fancy Technical Term ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าในระบบอินเตอร์เน็ต ถามว่าทำไมเราต้องเชื่อมโยง เพราะเรามีอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วมากขึ้น และอุปกรณ์เองก็ต้องสามารถเชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ จากที่เมื่อก่อนอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ฉลาดแบบทุกวันนี้ เราถึงเรียกอะไรๆ ว่า Smart ไปหมด วัตถุประสงค์จริง ๆ ของบริษัท เราไม่ได้มองว่าเราจะเป็น Application-Based แต่เรามักจะพูดอยู่เสมอว่าเราเป็น Data Shuttle Company เป็นกระสวยอวกาศของข้อมูล ทุกคนพูดถึงคลาวด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่เรารู้ว่ามันมีอยู่ เราจึงทำหน้าที่เป็น Data Shuttle ทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปที่คลาวด์ เพื่อให้คนที่ทำหน้าที่ Data Analytic, Software Analytic หรือ Marketing Analytic นำข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผล ไปทำการตลาด ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้อมูลที่เราส่งให้เขา เราไม่ได้เน้นในเรื่อง Communication Data แต่จะไปเน้นเป็น Application แต่ละประเภท เช่นเราไม่ได้เน้นที่ WIFI แต่จะเน้นไปที่ Wireless Application ซึ่งมันก็มีหลายส่วนในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้งาน

ถ้าหากบริษัทเรามีประวัติเป็นร้อยปีเหมือนบริษัทอื่น ๆ ณ วันนี้เราอาจมีสินค้าที่หลากหลายกว่าบริษัทอื่นก็ได้ แต่เราผ่านการเป็น Startup มาก่อน และความสำเร็จที่เราสร้างมา 17-18 ปีก็มาจากเรื่อง Wireless Communication โดยใช้ RFID เป็นตัวเชื่อมต่ออุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เข้าหาคลาวด์หรือ Data Server ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเก่ง เราหวังว่าเราจะเป็น Data Shuttle ทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูกค้า หรือจากสัตว์ต่าง ๆ ส่งขึ้นไปบนคลาวด์เพื่อเอาไปใช้งานให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ผมคิดว่าเราทำหน้าที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างให้มันเกิดประโยชน์กับมนุษยชาติจริง ๆ และผมอยากให้เราภูมิใจว่าคนไทยเราทำเรื่องนี้ได้ มีบริษัทหลายแห่งในโลกที่ทำเกี่ยวกับเรื่อง RFID แต่ถ้าพูดถึง Animal ID ถ้าถามเขาว่ารู้จัก Silicon Craft ไหม เขาจะบอกว่ารู้จักแน่นอน หรือถ้าไปถามว่าเขารู้จัก Silicon Craft ในตลาด After Market ที่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ไหม เขาจะรู้จักแน่นอน เพราะเราเป็น Big Player ในนั้น ส่วน NFC คู่แข่งใหญ่ๆ ก็จะรู้จักเรา เพราะบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งลอกเลียนแบบ Feature ที่เราทำก็มี ทั้งนี้ความลำบากในการออกสินค้าใหม่ ก็คือเราต้องสร้าง Ecosystem ซึ่งเราสร้างได้ช้ากว่าบริษัทใหญ่ แต่พอเราสร้างได้แล้ว บริษัทใหญ่ก็จะตามมาแบบคลื่นสึนามิเลย

สถานการณ์โควิด สร้างการเปลี่ยนแปลงและการผลัดเปลี่ยนอย่างหลากหลายให้กับหลายๆอุตสาหกรรม รวมถึง สถานการณ์ Supply shortage ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สำหรับ SICT แล้ว มีผลกระทบ มีการเปลี่ยงแปลง หรือมีการสร้างโอกาสอย่างไรบ้าง

เราเริ่มเจอปัญหา Shortage ในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว แต่ด้วยวิกฤติทำให้ทุกบ้านต้องมีโน๊ตบุ๊ค ต้องมีกล้องสำหรับ Video Conference คุณก็ต้องซื้อลำโพง ต้องใช้ชิป บลูทูธ ชิป Wi-fi เพื่อให้ลำโพงหลายๆ ตัวเชื่อมต่อกัน ต้องมีชิปจำนวนมากสำหรับอุปกรณ์ Teleconference สิ่งนี้ทำให้อยู่ดีๆ ความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั่วโลกไม่พร้อมสำหรับการรับมือในเรื่องนี้ ถ้าถามว่าทำไมเราไม่ใช้ Advanced Technology เข้ามาช่วย คำตอบคือเราต้องการทำ Cost Optimization ใช้อะไรแล้วต้นทุนต่ำที่สุดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขนาดนั้น เพราอุปกรณ์ของเราก็มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว ดังนั้นผมมองว่าโควิดทำให้เกิดอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอุปทานที่มีอยู่ในตลาดไม่เพียงพอ ทุกคนต้องรอคิว เพราะทุกที่กำลังการผลิตเต็มหมด อาจต้องรอคิวไปถึงกลางปีหน้า นี่เป็นสิ่งที่ผมชี้แจงในตลาดหุ้นเช่นกันว่า เราน่าจะเริ่มเห็นเทรนด์ที่ดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ในส่วนของเราเองยอด Sales Booking มีการเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือด้านของอุปสงค์แต่ด้านอุปทานเราก็กระทบเหมือนกัน ทั้งนี้เรามีการทำ Business Contingency Plan ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ จะทำกัน ผมก็เอาประสบการณ์ที่ผมมีจากการที่เคยอยู่ในทีม Business Contingency Plan มาใช้ พอผมเห็นวิกฤติเริ่มก่อตัวในไตรมาส 4 ผมก็เริ่มวางแผนเลย ว่าสินค้าหรือกระบวนการทำงานนี้ผมต้องมี Second Source หรือต้องหาคนมาช่วยผลิต ก็เรียกว่าได้รับผลกระทบเหมือนกันเพราะอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น เราก็ต้องบริหารจัดการระยะเวลาส่งมอบให้กับลูกค้า ต้องมีการเลื่อนระยะเวลาการส่งมอบออกไปบ้าง เพราะซัพพลายเออร์เราก็เลื่อนเราเช่นกัน ทุก ๆ ที่ก็เกิดปัญหาเดียวกันหมด ในต่างประเทศ สิ่งที่เขาทำก็คือขึ้นราคา ถ้าในตลาดราคาขึ้น เราก็ต้องขึ้นด้วย เพื่อที่จะบริหารจัดการต้นทุนและระยะเวลาส่งมอบ ผมมองในเรื่อง Partnership ในระยะยาวมากกว่า ลูกค้าที่อยู่กับเรามานาน เราจะปฏิบัติต่อเขาแบบพิเศษอยู่แล้ว มีอะไรเราช่วยกัน ผมคิดว่ากฎ 80:20 นั้นใช้ได้ 20% ของลูกค้าที่เรามี เรารักษาความสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างเหนียวแน่น เราไม่ขึ้นราคาเขาโดยไม่คุยกัน หรือถ้าจำเป็นต้องขึ้น ก็ต้องมีการคุยกัน มีการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกัน และบริหารจัดการแผนธุรกิจ เราต้องเขาใจว่าลูกค้าก็อยากให้รายได้เขาเพิ่ม และถ้าเราสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจให้ลูกค้าไม่ได้ รายได้ลูกค้าก็หด รายได้เราก็จะหดตามไปด้วย ก็ส่งผลกระทบไปทั้งหมด แต่ถ้าเราปฏิบัติกับลูกค้าแบบ Partner ผมคิดว่าความสัมพันธ์ก็จะดี และลูกค้าก็จะเข้าใจเรา ที่เหลือก็เป็นการบริหารเป้าหมายประจำวันให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้

ปีหน้าเราจะมีโอกาสได้เห็นอะไรที่แตกต่างหรือแปลกใหม่จาก SICT บ้างหรือไม่

ผมต้องบอกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Semiconductor อย่างเร็วก็ประมาณ 2 ปี อย่างช้าก็ประมาณ 5-10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 2 ปีส่วนใหญ่ก็จะเป็น Derivative ของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ก็อาจจะไม่ถึงกับน่าตื่นเต้นแต่อาจมี Feature ที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่เป็น Wow Effect แน่นอนว่าเราก็มีออกผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ๆ แต่ตอนนี้ผมยังไม่อยากบอกว่ามันเป็นอะไร แต่บอกได้ว่าเป็นไลน์ธุรกิจใหม่ ที่จะไปตอบโจทย์ในธุรกิจที่เราเองยังไม่ได้เข้าไป เราวางแผนที่จะนำเงินที่ระดมได้จากการทำ IPO ไปลงทุนในการทำ R&D ที่จะเพิ่ม Advancement ในส่วนของธุรกิจเซ็นเซอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ Medical Sensor แต่รวมถึง Environmental Sensor หรือ Food Sensor ด้วย เราก็จะเน้นไปที่ Advanced Innovation NFC เงินอีกส่วนหนึ่งจะไปลงในสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งถ้าผมพูด คู่แข่งก็จะรู้เลยว่าคืออะไร เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงแต่อาจจะยังไม่ได้บูมมากนัก เป็นสิ่งที่จะมาสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด ใช้พลังงานน้อยกว่า แต่ประสิทธิภาพเท่าเดิมหรืออาจจะดีกว่า และลด Waste ให้กับโลกของเรา บอกได้เลยว่าปีหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาพอสมควร แต่ปีนี้เรามุ่งเน้นการพัฒนาให้ได้ตาม Milestone ที่ตั้งใจไว้ ส่งของให้ได้มากที่สุด ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เก็บดอกออกผล และทำการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็ต้องขอให้ทีมงานทุกคนเป็นกำลังใจให้พวกเราในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทยด้วย

การเติบโตหรือโอกาสทางธุรกิจ IC หรือ Microchip เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของ Innovation สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ผมเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือของเรานี่ล่ะที่จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกของเรา ตอนนี้ทุกคนแทบจะมี NFC Phone กันหมดแล้ว เราจะมี Reader ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นเราจะใช้สินค้าสักอย่างหนึ่งและในการรับประกัน จากที่เราต้องสแกน QR Code และกรอกข้อมูล ถ้าเราเปลี่ยนจาก QR Code เป็นชิป และเราเพียง Authenticate ชื่อของเราบนโทรศัพท์มือถือ กับชิปที่อยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ คุณเพียงแค่สแกนและยืนยัน คุณก็จะเชื่อมต่อกับระบบรับประกันของผลิตภัณฑ์นั้นทันทีโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้จะแก้ Pain Point ในหลายๆ เรื่อง เช่น ระบบโลจิสติกส์ เราสามารถทำ Tamper Detection ว่ามีใครเปิดพัสดุของคุณหรือไม่ เพราะข้อมูลจะถูกส่งขึ้นไปที่คลาวด์ทันที ผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ซื้อก็จะทราบได้ทันที โดยรวมผมมองว่านี่คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมเองรู้สึกตื่นเต้นกับมันมาก ในต่างประเทศมีการใช้อย่างแพร่หลาย เช่นขวดไวน์ก็มีการติดเซ็นเซอร์ เพื่อดูว่าไวน์ในขวดถูก Refill มาหรือเปล่า เมืองไทยเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ผมหวังว่าเมืองไทยจะไปถึงจุดนั้นได้ เมื่อไรที่เรามีการเติบโตมากขึ้น เราก็คงจะมาทำตลาดในเมืองไทยมากกว่านี้ แต่ตอนนี้เราขอมุ่งเน้นกับ Global Market ให้มากกว่านี้ เราก็อยากที่จะขยายขนาดของธุรกิจให้ใหญ่ได้มากที่สุด

จากนี้ไป คิดว่าจะผลักดันทั้ง SICT และบุคลากรในอุตสาหกรรม Microchip ของไทยให้เติบโตไปอย่างไรครับ?

สุดท้ายแล้วก็ย้อนกลับไปที่การตัดสินใจของผมที่มาร่วมงานกับ SICT คือผมอยากมีส่วนในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถคิดต่าง ไม่ว่าจะเป็น Innovation เชิง Media ความรู้ การเงิน หรือเทคโนโลยี อยากเห็นคนที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสทำงานในที่ที่ดีแบบที่นี่ ได้ใช้ความรู้ในสิ่งที่เขาชอบ ได้ลงมือทำ คิดว่านี่จะเป็นเวทีที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็น Microchip Designer ก็จะได้มีที่ทำงานดี ๆ ในเมืองไทย และเป็นการสร้างแบรนด์ให้คนไทยไปพร้อม ๆ กัน