Newsroom

News Clippings

Stock
mai: SICT
4.84 THB
Change(%)
-(-%)
Volume (Shares)
229,379
Value (Baht)
1,101,806
Last Updated :

Brandage: ทำความรู้จัก SICT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไมโครชิพสุดล้ำ สัญชาติไทย

13 Jul 2020

เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถผลิตไมโครชิพอัจฉริยะ RFID เทียบเคียงบริษัทชั้นนำระดับโลกมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ซึ่งบริษัทที่ว่านั้นก็คือ “ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี” หรือที่หลายคนอาจรู้จักในนาม SICT

บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT นับเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วงจรรวมหรือไมโครชิพ RFID อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ การวิจัย พัฒนา ผลิตชิพ ส่งทดสอบ ทำการตลาด และจัดจำหน่าย เทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำในซิลิคอน วัลเลย์ ของประเทศ สหรัฐอเมริกา

คุณมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เล่าให้เราฟังว่า SICT ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2545 จากการรวมตัวกันของนักวิจัยและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการชักชวนของคุณมานพ อดีตนักออกแบบวงจรรวม (IC Specialist) ที่สะสมประสบการณ์นับ 10 ปี ในการทำงานด้านการออกแบบวงจรรวม จากบริษัทชั้นนำในซิลิคอน วัลเลย์ ในโครงการส่งเสริมให้นักวิชาชีพไทยในต่างประเทศกลับมาร่วมพัฒนาองค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ ภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทย

ปัจจุบันสินค้าของ SICT มีอยู่ 4 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่ ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal ID) ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (Immobilizer) ไมโครชิพสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator) สินค้าและบริการอื่นๆ เช่น ระบบฉลากอัจฉริยะเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้าหรือใช้สำหรับตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ เป็นต้น

“เราเริ่มธุรกิจจากการทำเทคโนโลยีที่เป็น Low Frequency ก่อน เริ่มจากทำไมโครชิพที่ใช้กับ Animal ID จากนั้นเราก็รู้ว่าเทคโนโลยีแกนหลักสำหรับ RFID ในผลิตภัณฑ์ของ Animal มันมีความใกล้เคียงกับเทคโนโลยีกุญแจของรถยนต์ เพราะมันเป็นชิพพื้นฐานที่ต้องใส่ เข้าไปด้วย จึงพัฒนาแตกไลน์มาทำ Immobilizer แล้วก็แตกไลน์ต่อยอดเทคโนโลยีจาก Immobilizer มาเป็น Access Control ทำไมโครชิพสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ และระบบความปลอดภัยอีกที”

แม้จะเป็นบริษัทไมโครชิพสัญชาติไทย แต่รู้หรือไม่ว่า สัดส่วนของการขายไมโครชิพให้กับประเทศไทยมีเพียง 1% เท่านั้น อีก 99% กลายเป็นสัดส่วนการขายในต่างประเทศทั้งสิ้น โดยตลาดหลักของ SICT ก็คือ ประเทศออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

 

ไม่เพียงแต่จะเติบโตในตลาดโลกเท่านั้น แต่ SICT ยังเป็นผู้ประกอบการไทยเพียงรายเดียวที่ผลิตไมโครชิพ Animal ID เพื่อปศุสัตว์รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มของ Animal ID ในตลาดโลกกว่า 20%

“ตลาดหลักช่วงแรกเป็นออสเตรเลีย เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีกฎหมายบังคับใช้ Animal Tag ของปศุสัตว์ ด้วยความที่เราพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ใส่ความต้องการของลูกค้าเข้าไปตลอด ลูกค้าเองก็เชื่อมั่นในเรา ลูกค้า 9 ใน 10 รายซื้อเรา ซึ่งผมเชื่อว่า 4 ปีหลังจากนี้ เราจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้ไม่ยาก”

คุณมานพ บอกกับเราว่า แม้ SICT จะเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกแบบ และจัดจำหน่ายไมโครชิพอัจฉริยะ RFID แต่ในตลาดโลกการแข่งขันของธุรกิจไมโครชิพค่อนข้างดุเดือด

SICT ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดโลกมีความต้องการไมโครชิพความถี่ UHF เป็นหลักพันล้านชิ้น แต่กลับฉีกตัวเองออกไปสร้างความว้าวที่มากกว่า ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลักในการประกอบธุรกิจให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตในตระกูล NFC ได้ปรับรูปแบบการใช้ให้ง่ายขึ้นเพียงมีสมาร์ทโฟน เกิดเป็นไมโครชิพระบบการอ่านข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น ฉลากอัจฉริยะป้องกันการปลอมแปลงสินค้า เป็นต้น

“NFC อยู่บนมือถือ เท่ากับทุกคนมีเครื่องอ่านไมโครชิพหมด เราเปลี่ยนมุมจากการใช้ Smart Label รูปแบบเดิมๆ มาทำใน NFC แฟลตฟอร์ม ปรับการใช้งานให้สามารถเชื่อมต่อกับสามาร์ทโฟน สร้างเป็น Smart Label ตัวใหม่ขึ้นมา”

คุณมานพ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาด SICT ได้มีการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ เพื่อพัฒนานวัตกรรม ไมโครชิพอัจฉริยะ RFID ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ด้วยการลงนาม MOU ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิกล่องขนส่งเลือดอัจฉริยะ เพื่อควบคุมคุณภาพระหว่างการขนส่ง ซึ่งเซ็นเซอร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่แจ้งเตือนหากอุณหภูมิของถุงเลือดอยู่นอกเกณฑ์ปกติ ทำให้ผู้ขนส่งสามารถติดตามข้อมูลดังกล่าวผ่านสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์

SICT ยังคงพัฒนานวัตกรรมไมโครชิพอัจฉริยะ RFID ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้เปิดตัว เทคโนโลยีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัจฉริยะไร้แบตเตอรี่แบบพกพา เพื่อใช้ตรวจสอบน้ำที่เหมาะสมต่อการบริโภค ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ การ์ดที่สามารถอ่านค่าผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ SICT ยังมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มต้นทุนต่อประชาชน ทั่วไปเป็นครั้งแรก เป็นจำนวน 100,000,000 หุ้น ในไตรมาส 3 นี้

สำหรับตลาดโลก SICT มีเป้าหมายเติบโตด้านรายได้ปีละ 20% ทั้งยังวางเป้าหมายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกในตลาด Animal ID สำหรับปศุสัตว์ในอีก 4 ปี ข้างหน้า ส่วนตลาดประเทศไทย คุณมานพ มองว่า ในอนาคตตลาดประเทศไทยจะเปิดรับนวัตกรรมเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า SICT ก็พร้อมที่จะพัฒนาและส่งต่อเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ไปยังภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในประเทศต่อไป

“SICT เรามุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และนำเสนอสินค้านวัตกรรมที่สร้างความแตกต่าง ตอบสนองความต้อง การของลูกค้าและผู้ใช้งาน ตลอดจนก้าวไปเป็นที่หนึ่งในผู้นำด้านการออกแบบ พัฒนาและจัดจำหน่ายไมโครชิพ RFID และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างภาคภูมิ” คุณมานพ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: Brandage

Attachment