ห้องข่าว

ข่าวจากสื่อสื่งพิมพ์

Stock
mai: SICT
4.80 THB
เปลี่ยนแปลง(%)
-0.02(-0.41%)
ปริมาณซื้อขาย (หุ้น)
257,112
มูลค่าการซื้อขาย (บาท)
1,231,240
ปรับปรุงเมื่อ :

Marketeer: 'บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)' Deep Tech สัญชาติไทย สู่ผู้นำระดับโลก

11 ก.ค. 2563

"เรามีแผนขยายธุรกิจไมโครชิปอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในตลาดสำหรับปศุสัตว์ภายใน 4 ปีข้างหน้า"

จากข้อความที่กล่าวถึงเป้าหมายสู่ 'อันดับหนึ่งของโลกในธุรกิจไมโครชิป' หลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่า Marketeer กำลังพูดคุยกับผู้บริหาร 'องค์กรสัญชาติไทย'

และนี่คือ ผู้ผลิตไมโครชิป Animal ID เพื่อปศุสัตว์รายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ที่กำลังพุ่งทะยานสู่ผู้นำอันดับหนึ่งในอนาคต

'บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)' 

จากซิลิคอนวัลเลย์ สู่ 'ซิลิคอน คราฟท์'

Marketeer ได้รับเกียรติจาก คุณมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT มาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปและภาพรวมธุรกิจขององค์กร Deep Tech แห่งนี้ กับบทบาทการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกในระดับมหภาค

SICT ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยมี คุณมานพ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรรวม (IC Specialist) จากบริษัทชั้นนำในซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ในโครงการส่งเสริมให้นักวิชาชีพไทยในต่างประเทศ กลับมาร่วมพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย (Reverse Brain Drain) เป็นผู้นำในการก่อตั้งบริษัท พร้อมด้วยทีมนักวิจัยและวิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่สะสมประสบการณ์การทำงานด้านการออกแบบวงจรรวม (Integrated Circuit) มานับ 10 ปี

"แนวคิดในการก่อตั้งบริษัทฯ ของทีมผู้บริหาร คือ การนำศักยภาพในการถ่ายทอดและพัฒนางานวิจัยหรือความรู้ด้านวงจรรวม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยธุรกิจของ SICT จัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ นับเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่ม"

นำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย ครอบคลุมครบวงจร

SICT ถือเป็นบริษัทที่นำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัย เทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกและรายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วงจรรวม (Integrated Circuit) หรือไมโครชิปสำหรับ RFID อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา จ้างผลิต ส่งทดสอบ ทำการตลาด และการจัดจำหน่าย

โดยมีผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม หลัก ๆ ได้แก่

  1. ไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (Immobilizer)
  2. ไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag)
  3. ไมโครชิปสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator) สินค้า
  4. ไมโครชิปอื่น ๆ อาทิ ใช้สำหรับระบบฉลากอัจฉริยะเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า (Smart Label or Anti-counterfeiting) หรือใช้สำหรับตรวจวัดค่าเซนเซอร์ต่าง ๆ (Smart Sensor) เป็นต้น

"บริษัทมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอไมโครชิปที่สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ระบบ RFID ย้อนไปเมื่อบริษัทก่อตั้งใหม่ ๆ ปี 2545 บริษัทสามารถพัฒนาวงจรไฟฟ้ารวม (IC) หรือ ไมโครชิปสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID Animal Identification)ได้สำเร็จเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

หลังจากพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้ SICT ได้เริ่มวางจำหน่ายโดยส่งออกให้กับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งสินค้าไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) สามารถ ครองส่วนแบ่งตลาดปศุสัตว์ในอันดับทอป 5 ของโลก และบริษัทฯ มีแผนการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ SICT ครองอันดับหนึ่งของตลาดโลกภายใน 4 ปีข้างหน้า

ต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ รับ New Normal

นอกจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้างต้นแล้ว SICT ยังต่อยอดนวัตกรรมโดยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ตามเทรนด์โลกที่คนหันมาใส่ใจและต้องการเข้าถึงนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพมากขึ้น

โดยวางกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ เพื่อพัฒนา นวัตกรรมไมโครชิปอัจฉริยะ RFID ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Smart Healthcare) นำเสนอเทคโนโลยีที่จะทำให้การตรวจโรคต่าง ๆ ในเบื้องต้นสามารถทำได้ง่ายด้วยตนเอง

"ผลิตภัณฑ์ก็จะมีตั้งแต่การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งน่าจะใกล้ชิดกับผู้บริโภคทั่วไป และเรายังลงนามความร่วมมือ MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เพื่อร่วมพัฒนา เซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ เพื่อควบคุมคุณภาพระหว่างการขนส่ง (Cold Chain) เป็นการยกระดับคุณภาพการรักษาผู้ป่วย และสามารถติดตามข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนได้แบบ Real-Time

นอกจากนี้ ยังเปิดตัวเทคโนโลยี การ์ดตรวจวัดคุณภาพน้ำบริโภคอัจฉริยะแบบพกพา (Water Card) ไร้แบตเตอรี่ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของน้ำเบื้องต้นที่เหมาะสมต่อการบริโภค สามารถอ่านค่าผ่านสมาร์ทโฟนซึ่งเชื่อมต่อกับสมาร์ทเซนเซอร์ โดยจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และเด็กเล็ก ในแง่ของการระมัดระวังเรื่องความเค็มของน้ำประปาที่อาจเปลี่ยนไปเป็นรสชาติกร่อย รวมไปถึงการคัดกรองสารเคมี ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับอาหารอีกด้วย"

ฐานลูกค้าทั่วโลก เติบโตต่อเนื่องและแข็งแกร่ง

เมื่อย้อนดูผลการดำเนินงานของ SICT จะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปี 2560 - รายได้ 310.7 ล้านบาท

- กำไรสุทธิ 38.7 ล้านบาท

ปี 2561 - รายได้ 377.0 ล้านบาท

- กำไรสุทธิ 51.7 ล้านบาท

ปี 2562 - รายได้ 308.8 ล้านบาท

- กำไรสุทธิ 24.5 ล้านบาท

* โดยไตรมาส 1/63 มีรายได้ถึง 95.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 15.6 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้ตั้งเป้าภายใน ปี 2567 จะมีรายได้เติบโตเป็น 2 เท่า โดยเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี จากปี 2564-2567 ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับลูกค้า และขยายตลาดผลิตภัณฑ์เดิม

ซึ่งเมื่อถามถึงตลาดหลักของ SICT เราได้คำตอบที่น่าสนใจว่า ผลิตภัณฑ์ของ SICT ครอบคลุมอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศระดับบิ๊กเนมที่มีฐานกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง แบ่งแยกตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น

- ออสเตรเลีย

: SICT เป็นผู้ผลิตไมโครชิพสำหรับบรรจุในป้ายติดหูอิเล็กทรอนิกส์เพื่อระบุตัวตนในสัตว์ (Animal Ear Tag) และเป็นผู้ผลิตไมโครชิพ Animal ID เพื่อปศุสัตว์รายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก

- ยุโรปและสหรัฐอเมริกา

: พัฒนาไมโครชิพ สำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์รุ่นใหม่ให้แก่บริษัทผู้ผลิตกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์สำรอง

- ประเทศในกลุ่มเอเชีย

: มีการเติบโตของสินค้าในกลุ่ม Access Control และเครื่องอ่านอย่างต่อเนื่อง

โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ประมาณ 25-38% ไมโครชิปสำหรับลงทะเบียนสัตว์ 33-42% ไมโครชิปสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่และระบบการอ่านข้อมูล 27-32% และไมโครชิปที่ประยุกต์ใช้ตามการใช้งานต่าง ๆ เช่น NFC ประมาณ 1-2% โดยตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีจากนี้ สัดส่วนของธุรกิจไมโครชิปที่ใช้เทคโนโลยี NFC จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

เป้าหมายใหม่สู่ความเป็นผู้นำอย่างยั่งยืน

ภายใต้วิสัยทัศน์ "Shape the world of Secured & Connected devices with Innovation & Intelligence" SICT มุ่งที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมสมัยใหม่ นำเสนอสินค้าที่สร้างความแตกต่าง ตอบสนองความต้องการของคู่ค้าและผู้ใช้งาน ตลอดจนก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการออกแบบ พัฒนาและจำหน่ายไมโครชิปอาร์เอฟไอดีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างภาคภูมิ

"เราตั้งเป้าหมายเติบโตในด้านรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวภายใน 4 ปี ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ mai และเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์กลุ่มปศุสัตว์ (Livestock) โดยมุ่งเน้นพัฒนาไมโครชิป และระบบสนับสนุนที่มีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไมโครชิป RFID พื้นฐาน และขยายการรับงานออกแบบสินค้าเฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้า (Application Specification Integrated Circuit: ASIC)"

คุณมานพอธิบายกับเราว่า SICT จะใช้ฐานความรู้ที่เชี่ยวชาญอยู่แล้วมาประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมให้ชิปสามารถมีฟังก์ชันและศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถจัดหาได้ทั้งจากการวิจัยเองหรือนำนวัตกรรมใหม่ที่สามารถต่อยอดจากการได้รับสิทธิการใช้ (Licensing) มาประกอบกันเป็นสินค้าใหม่ที่สร้างคุณลักษณะโดดเด่น มีประสิทธิภาพตรงต่อความต้องการของตลาด และสามารถประยุกต์ในกลุ่มอุตสาหกรรมได้หลากหลายมากขึ้น ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าในตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับตลาดไทย SICT ยังมีแนวทางที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทรนด์ใหม่ ๆ ที่ได้พัฒนาไปสู่ทั่วทุกมุมโลก กลับมาเปิดตลาดไปยังภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในประเทศต่อไป

เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ IPO 100 ล้านหุ้น

SICT เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยการเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

"เรามีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (mai) และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100,000,000 หุ้น (หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของบริษัท) คิดเป็นร้อยละ 25.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (par) : 0.50 บาท/หุ้น"

โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ผ่าน บล.ไอร่า ซึ่งเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

"ทั้งนี้ เราจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการขยายธุรกิจไมโครชิปอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีหลักของบริษัท และร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาวงจร หรือนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท รวมไปถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทต่อไป"

ที่มา: Marketeer

ไฟล์แนบ